0-2763-2600 Ext. 2652, 2409, 2410

เริ่มธุรกิจตั้งแต่อายุ 18! เด็น ซึกาวาร่า หนุ่มลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น เจ้าของแบรนด์ไลฟ์สไตล์ Denny

ในยุคปัจจุบัน ธุรกิจอาจเป็นสิ่งที่ใครหลาย ๆ คนคาดไม่ถึงว่าจะสามารถเกิดขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่มีไอเดียและเงินทุนก็สามารถสร้างขึ้นมาได้แล้ว แต่ในทางเดียวกัน ธุรกิจก็สามารถล้มหายตายจากไปได้อย่างง่ายดายเช่นกัน ยิ่งเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นมาจากความชอบก็ยิ่งจากไปได้ง่าย

แต่สำหรับ “เด็น ซึกาวาร่า” นักศึกษาของวิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (TNIC) สาขาธุรกิจระหว่างประเทศและการเป็นผู้ประกอบการ (International Business and Entrepreneurship) ธุรกิจที่เขาสร้างขึ้นมาจากความสนใจนั้นยังคงดำเนินต่อไปได้ด้วยสิ่งที่เหนือไปกว่านั้น อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาของแบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่มีชื่อว่า “Denny” ยังคงสร้างสรรค์ผลงานออกมาเรื่อย ๆ เรามาติดตามกันในบทความนี้กัน

Q: นิยามของ Denny คืออะไร?

A: แรก ๆ Denny เป็นเพียงธุรกิจเสื้อผ้าที่ผมร่วมกันทำกับเพื่อนครับ แต่พอเราทำไปเรื่อย ๆ สิ่งที่ Denny กำลังสะท้อนอยู่มันคือไลฟ์สไตล์ครับ เราเลยทำ Product อื่น ๆ ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ เช่น Digital Art เสื้อสเวตเตอร์ที่สามารถเลือกปักป้ายผ้า (Custom patch) ได้ตามความต้องการ ซึ่งตอบโจทย์คนที่ต้องการแสดงความเป็นตัวเองด้วยศิลปะครับ และ Denny ต้องการที่จะช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อมเลยมีขายเสื้อมือสองที่เอามาดัดแปลงใหม่เล็กน้อยเพื่อให้ของเก่ามีคุณค่าอีกครั้งครับ

Q: อะไรคือจุดเริ่มต้นของ Denny?

A: จริง ๆ ตอนแรกผมไม่ได้จะทำเป็นธุรกิจนะครับ ผมแค่อยากใส่เสื้อที่ผมทำเป็นลายของตัวเองขึ้นมาเท่านั้นเอง แต่พอลองติดต่อโรงงานดูแล้วมันมีจำนวนที่ต้องผลิตขั้นต่ำครับ ผมเลยกลับมาคิดดูว่าลายที่ออกแบบมาจะมีคนอื่นที่ชอบเหมือนกันไหม ถ้าผมทำขายไปด้วยจะเป็นยังไง ถือว่าได้ฝึกทำธุรกิจไปด้วย ผมก็เลยเริ่มพัฒนามาเป็นธุรกิจครับ

ด้วยความที่เงินทุนของผมไม่ได้มีเยอะ ผมก็เลยต้องไปหาคนที่มาร่วมลงทุนไปด้วยกัน โชคดีที่เพื่อนของผมสนใจเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วยกันเลยทำให้ Denny เกิดขึ้นมาได้ครับ ช่วงแรก ๆ เราก็มีแค่ไม่กี่ดีไซน์ครับ แต่ Denny ก็ค่อย ๆ โตขึ้นเรื่อย ๆ เลยได้มี Collection ใหม่ออกมาครับ ตอนนี้พวกเราก็ทำมาประมาณ 3 ปีแล้วครับ

Q: ความยากของการทำธุรกิจนี้คืออะไร?

A: ด้วยความที่สเกลธุรกิจของเราค่อนข้างเล็กครับ ต้นทุนไม่เยอะมาก ความยากของเราคือการหาโรงงานที่รับผลิตได้ตามความต้องการของเราครับ ทั้งเรื่องคุณภาพของวัตถุดิบ จำนวนการผลิตขั้นต่ำ ค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เงื่อนไขต่าง ๆ และส่วนลดครับ พวกเราเลยได้ฝึกในเรื่องของการเจรจาต่อรองกับโรงงานและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเยอะมากเลยครับ

นอกจากนั้น ผมยังได้เรียนรู้ที่จะทำอะไรหลาย ๆ อย่างด้วยตัวเองเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้วยครับ มีอยู่ครั้งนึง ทางโรงงานส่งใบเสนอราคาค่าผลิตเสื้อผ้าฝ้ายพร้อมสกรีนลายมาให้พวกเราดู ราคาค่อนข้างสูงกว่างบที่พวกเรามีพอสมควรเลยครับ พวกเราเลยแก้ปัญหาด้วยการสั่งผลิตเสื้อเปล่า ๆ จากทางโรงงาน และสั่ง DTF (งานพิมพ์ที่สกรีนลายบนแผ่นฟิล์ม ด้านหลังมีผงกาว เมื่อกาวโดนความร้อนก็จะสามารถละลายติดกับเสื้อผ้าได้) แยกออกมาครับ จากนั้นพวกเราก็เอา DTF มารีดกับเสื้อเองเพื่อประหยัดงบครับ

ที่จริงแล้วก็มีเรื่องผิดพลาดเกิดขึ้นเหมือนกันครับ พวกเราเคยสั่งผลิตเสื้อไปแล้วได้ไซส์ที่ไม่ถูกต้องมา ไซส์ S เล็กมากจนแม้แต่ผู้หญิงบางคนยังใส่ไม่ได้เลย เสื้อล็อตนั้นยังกองอยู่ที่บ้านเลยครับ (หัวเราะ)

Q: สิ่งใดที่ช่วยให้ Denny ยังได้ไปต่อจนถึงตอนนี้?

A: การวางแผนกับข้อมูลครับ พวกเรามีแผนก่อนลงมือทำจริง วางสเกลไว้ชัดเลยครับว่าธุรกิจของพวกเราจะขายอะไรบ้าง ทำออกมาประมาณไหน พอเริ่มทำ Collection แรกออกมาแล้วก็ค่อย ๆ เก็บข้อมูลของลูกค้าเพื่อใช้พัฒนา Product ต่อ ๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอายุ เพศ พื้นที่ สไตล์ที่ชอบ หรือลูกค้าสนใจสินค้าประเภทไหนบ้าง ค่อย ๆ ทำเป็นทีละ step ไปครับ ที่ทุกวันนี้ Denny ยังคงไปต่อได้ก็เพราะเราทำ Research จนเราเข้าใจลูกค้าครับ

Q: มีอะไรที่อยากจะฝากถึงคนที่สนใจทำธุรกิจแต่ยังไม่กล้าเริ่มหรือเปล่า?

A: ผมอยากฝากถึงคนที่สนใจจะทำธุรกิจครับว่า อย่ากลัวที่จะลอง ทำธุรกิจมีทั้งเหนื่อยทั้งผิดพลาดแน่นอนครับ แต่ผมมองเป็นการเรียนรู้มากกว่า เงินที่เสียไปก็เหมือนจ่ายค่าเล่นเกมจำลองทำธุรกิจ แต่ประสบการณ์ที่ได้มันคุ้มกว่าในเกมเยอะครับ ผมถือคติว่า ถ้ามีไฟจะทำอะไรแล้ว แค่ต้องลงมือทำ อย่ากลัวเสียเงิน กลัวเสียเวลา กลัวความผิดพลาด เพราะสิ่งที่ได้มามันคือความรู้ทั้งหมดครับ ถ้าจะเสียดายก็คือเสียดายที่ไม่ได้เริ่มตั้งแต่วันนี้มากกว่า ลงมือทำทันทีที่มีไฟครับ ที่จริง ผมก็มีช่วงที่ไฟมอดเหมือนกัน แต่พอไฟกลับมาก็ทำต่อทันทีครับ ต้อง Research ให้ดี ๆ และเลือก Partner ที่ไว้ใจได้ด้วยครับ

ประสบการณ์การทำธุรกิจของเด็นนั้นสะท้อนทักษะที่เรียกว่า Entrepreneurship หรือก็คือ “ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ” ได้เป็นอย่างดี ทั้งจากความกล้าคิดกล้าลอง การมองเห็นโอกาส ความเป็นผู้นำ และการบริหารธุรกิจอย่างมีแบบแผน อันเป็นทักษะสำคัญที่จะพาเด็นมุ่งไปสู่อนาคตของผู้ประกอบการที่สดใสได้แม้อายุจะยังน้อยอยู่ก็ตาม