0-2763-2600 Ext. 2652, 2409, 2410

Hitozukuri ปรัชญาญี่ปุ่นในการสร้างคนของวิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (TNIC)

Credit: Pexels.com

“ความเป็นญี่ปุ่น” นั้นขึ้นชื่อว่าเป็นอัตลักษณ์ของวิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (TNIC) ซึ่งภายใต้วิธีคิดและวิธีการทำงานของสถาบันนั้นแฝงปรัชญาการทำงานอย่างมีคุณภาพในสไตล์ญี่ปุ่นอยู่ด้วย รวมมีการถ่ายทอดปรัชญานี้สู่นักศึกษาเพื่อสร้างผู้นำที่มีศักยภาพและพึ่งพาได้ให้กับสังคมและโลกใบนี้ ภายใต้ปรัชญามากมายของญี่ปุ่น Hitozukuri คือแนวคิดที่สถาบันฯ ยึดถือเป็นอันดับแรก Hitozukuri นั้นให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรบ้าง มาทำความรู้จักกันได้เลย!

ที่มาและความหมายของ Hitozukuri

Hitozukuri ได้รับความนิยมในยุคที่อุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่นนั้นบูมเป็นอย่างมาก เพราะเป็นช่วงที่เครื่องจักรเข้ามาทดแทนคนในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ แต่ในทางกลับกัน เครื่องจักรเหล่านั้นก็ต้องพึ่งพาคนคุณภาพจำนวนมากเช่นกันเพราะว่าสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหากขาดคนที่มาดูแลและปรับปรุง จึงทำให้เกิดเป็นปรัชญาการสร้างคนของญี่ปุ่นเพื่อมาพัฒนาเทคโนโลยีนั่นเอง

Hitozukuri ประกอบมาจากคำว่า Hito (ヒト) ซึ่งแปลว่า “ผู้คน” รวมกับ Zukuri (づくり) ซึ่งแปลว่า “สร้างหรือผลิต” จึงรวมกันเป็นแนวคิดในการ “สร้างคน” ขึ้นมา โดยการสร้างคนใน Hitozukuri หมายถึงการปลูกฝังแนวคิดให้ผู้คนมีความใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-long learning) ผ่านการให้การศึกษา ไม่ใช่เพียงแค่การศึกษาธรรมดา ๆ เท่านั้น แต่เป็นการถ่ายทอดที่เต็มไปด้วยความรักอย่างมีศิลปะเพื่อพัฒนาทักษะที่ผู้คนเหล่านั้นเชี่ยวชาญ รวมถึงสามารถทำงานร่วมกับสายงานอื่น ๆ ได้

องค์ประกอบของ Hitozukuri

Hitozukuri ประกอบไปด้วยแนวคิดในการสร้างคนแบบญี่ปุ่น 3 ข้อด้วยกัน ได้แก่

  • “คิดเป็น” คือการสอนให้ผู้คนนั้นรู้จักระบบทั้งหมดของการทำงานและสามารถสร้างสรรค์วิธีการสร้างงานที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นและใช้ทรัพยากรลดลงได้ เช่น เวลา การฝึกฝนให้คิดเป็นนั้นใช้การสังเกต การลองทำ ไปจนถึง OJT (Onthe-Job Training) หรือการทำงานจริงในสภาพแวดล้อมจริง เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจงานที่ทำอยู่ในภาพกว้าง
  • “เข้าใจ” คือการสอนให้ผู้คนมองเห็นและเข้าใจความเชื่อมโยงของสิ่งที่ตัวเองทำอยู่กับสิ่งอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของขั้นตอนการทำงาน เนื้องาน หรือแม้แต่ผลกระทบของงานของตัวเองที่มีต่องานของคนอื่น หนึ่งในเครื่องมือการเรียนรู้ที่ช่วยให้ผู้คนเข้าใจผลกระทบของการทำงานมากขึ้นคือการวางแผนแบบ PDCA (Plan – Do – Check – Action) และวิถี Kaizen ที่เน้นสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
  • “พัฒนา” คือการสอนให้ผู้คนเข้าใจถึงความสำคัญของการพัฒนาว่าพัฒนาแล้วได้อะไร ไม่เพียงแค่ทำให้ตัวเองเก่งขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้ตัวเองได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้นจากความเก่งของตัวเอง ทำในสิ่งใหม่ ๆ ที่ทำให้ตัวเองและองค์กรพัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ อย่างมีใจรักและมุ่งมั่นทุ่มเท โดยการพัฒนาตัวเองต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนไม่มีที่สิ้นสุด

ปรัชญาที่มาคู่กันกับ Hitozukuri

เมื่อผู้คนมีคุณภาพแล้วก็จะส่งผลให้เกิดการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพตามด้วย ซึ่งปรัชญาในการสร้างสินค้าที่มีคุณภาพนั่นก็คือ Monozukuri มาจากคำว่า Mono (モノ) ที่แปลว่าสินค้า รวมกับ Zukuri (づくり) ซึ่งแปลว่า “สร้างหรือผลิต” เมื่อรวมกันจึงมีความหมายว่า “สร้างสินค้า” นั่นเอง

ความลึกซึ้งของ Monozukuriนั้นอยู่ที่สินค้าที่ผลิตออกมาต้องออกมาจากความประณีต ละเอียดลออ ใส่ใจ เชี่ยวชาญ เต็มไปด้วยจิตวิญญานในการผลิต และความภาคภูมิใจที่ได้สร้างออกมา เพื่อทำให้ลูกค้าพึงพอใจ

Hitozukuri และ Monozukuri นั้นเป็นปรัชญาที่เคียงคู่กันมาราวกับฝาแฝด เพราะแนวคิดหนึ่งคือการเน้นสร้างคนที่มีคุณภาพ อีกแนวคิดหนึ่งคือการสร้างสินค้าที่มีคุณภาพ ทั้ง 2 สิ่งส่งผลต่อกันและกัน รวมถึงช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันด้วย ซึ่งบริษัทญี่ปุ่นชื่อดังระดับโลกอย่าง Toyota ก็ได้นำปรัชญาทั้ง 2 แนวคิดนี้ไปปรับใช้ในการทำงานขององค์กรเช่นกัน

Hitozukuri ที่วิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (TNIC)

สำหรับวิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (TNIC) Hitozukuri นั้นเป็นแกนกลางของการพัฒนานักศึกษาให้กลายเป็นบุคลากรคุณภาพในอนาคต เพราะที่นี่มุ่งเน้นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ให้นักศึกษาลงมือทำด้วยตัวเองจริง ๆ ในทุกขั้นตอน ฝึกสร้างระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ เข้าใจถึงหน้าที่และความสัมพันธ์ของงานที่ตัวเองทำอยู่กับผู้คนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงปลูกฝังความเป็นนักเรียนรู้ที่ถ่อมตนและพยายามเรียนรู้อย่างยั่งยืน

ไม่เพียงแค่นั้น ความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (TNIC) กับสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (TNI) ก็เกื้อหนุนกันไม่แพ้ Hitozukuri และ Monozukuri นั่นก็เพราะทั้ง 2 สถาบันนั้นแชร์ปรัชญาในการผลิตคนคุณภาพร่วมกัน โดยที่ TNI ได้แบ่งปันเครือข่ายองค์กร หน่วยงาน สถาบัน และสถานศึกษาในไทยและญี่ปุ่นเพื่อช่วยเสริมสร้างโอกาสให้กับนักศึกษา และ TNIC จะส่งเสริมความเป็นนานาชาติให้กับนักศึกษาเพิ่มเติมด้วยสังคมที่เปิดกว้างต้อนรับความหลากหลาย และกระตุ้นให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์จริงที่เร็วขึ้น

นอกจาก Hitozukuri แล้ว วิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (TNIC) ยังยึดมั่นในคติประจำสถาบันที่เรียกว่า Hi-Grit ซึ่งประกอบด้วย Hi-Hitozukuri, G-Global Citizens, R-Resilience, I-Ingeniousness, T-Thoughtfulness อันเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างบุคลากรที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพสำหรับเป็นผู้นำของแวดวงธุรกิจในอนาคต ศึกษาข้อมูลสาขาวิชาต่าง ๆ ของ TNIC เพิ่มเติมได้ที่ https://tnic.tni.ac.th/

แหล่งที่มา

Planet-lean.com

Facebook.com

Flowchainsensei

Jstage.jst.go.jp