0-2763-2600 Ext. 2652, 2409, 2410

“ทำมากแค่ไหนก็ไม่เก่งพอ” สัญญาณเตือนของ Imposter syndrome

Credit: Freepik.com

เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่ต้องการประสบความสำเร็จมักจะรู้สึกว่าตัวเองยังไม่เก่งพอและพยายามพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อย ๆ เพียงแต่ว่ามีบางคนที่ยังรู้สึกกดดันและกังวลกับความไม่เก่งของตัวเอง ทั้งที่พวกเขาได้รับคำชื่นชมและคำยกย่องจากคนรอบข้าง สิ่งนี้อาจเป็นผลของ Imposter syndrome หรือภาวะการมองตัวเองว่าไม่เก่ง ก็เป็นได้

Credit: Freepik.com

Imposter syndrome คืออะไร?

Imposter syndrome หรือภาวะการมองตัวเองว่าไม่เก่ง นั้นไม่ใช่อาการป่วย แต่เป็นสภาวะที่เจ้าตัวมองตัวเองว่ามีความสามารถไม่มากพอ ไม่ว่าจะพยายามหรือทำอะไรมากเท่าไหร่ก็ไม่เคยเก่งพอ ผู้ที่มีภาวะนี้มักจะหมกมุ่นอยู่กับความรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง ปิดกั้นตัวเองจากคำชื่นชมของคนรอบข้าง และเปิดโอกาสให้ตัวเองจมอยู่กับความรู้สึกว่าตัวเองทำดีกว่านี้ได้อีก ผลงานที่ผ่านมายังไม่ดีพอ จนเกิดความวิตกกังวลหรือความเครียดในที่สุด ในบางคนอาจจะมองความสำเร็จของตัวเองเป็นเพราะโชคช่วยด้วยซ้ำ หรือกลัวถูกคนอื่นมองว่าตัวเองไม่เก่งจนทำให้สุขภาพจิตย่ำแย่ลงอีก

สัญญาณของ Imposter syndrome มีอะไรบ้าง?

  • หวาดกลัวความล้มเหลว
    คนที่มีภาวะ Imposter syndrome จะไม่ชอบความผิดพลาดหรือโอกาสที่จะเกิดผลลัพธ์ที่ไม่ดีเป็นอย่างมาก เพราะพวกเขามองว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่บ่งชี้ว่าพวกเขาคือคนไม่เก่ง พวกเขาจึงพยายามทำทุกอย่างให้ดีกว่าและมากกว่าที่จำเป็นต้องทำเสมอเพื่อลดโอกาสสำหรับความล้มเหลวเหล่านั้น รวมถึงจะรู้สึกกังวลอยู่ตลอดเวลาว่างานของตัวเองจะเกิดปัญหา ไม่ก็กลัวคนอื่นจะคิดว่างานของตนยังไม่ดีพอ
  • คำชมไม่ได้ช่วยทำให้รู้สึกดี
    ต้องยอมรับว่าผลงานของผู้ที่มีภาวะ Imposter Syndrome มักจะดีกว่าคนรอบข้างหรือไม่ก็มีความละเอียดครบถ้วนมากกว่าคนอื่น ๆ ทำให้คนเหล่านี้มักจะได้รับคำชื่นชมยกย่อง แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในหัวของพวกเขานั้นไม่เป็นอย่างที่หลายคนคิด พวกเขามักจะเพิกเฉยหรือเมินคำเหล่านี้เพราะพวกเขาคิดว่างานเหล่านั้นยังดีได้อีก มันยังไม่เพียงพอต่อคำดี ๆ ที่ได้รับ ในบางคนอาจรู้สึกว่าตัวเองไม่ควรคู่กับการสรรเสริญเหล่านี้ด้วยซ้ำ
  • ก้าวข้ามความผิดพลาดไม่ได้
    สำหรับคนที่มีอาการของ Imposter syndrome ถ้าเกิดทำอะไรผิดพลาดไปสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ก็ตาม พวกเขาจะจดจำสิ่งนั้นไปตลอดกาล และภาพหลอนของสิ่งนั้นจะคอยติดตามพวกเขาไปทุกที่ ไม่สามารถมูฟออนออกมาจากความผิดบาปได้จนหลายครั้งทำให้พวกเขาไม่กล้าทำอะไรใหม่ ๆ เลยก็ได้

Credit: Freepik.com

Imposter syndrome เกิดขึ้นได้อย่างไร?

Imposter syndrome เป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย โดยอาจมีตัวกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมหรืออาจเป็นส่วนผสมจากความคิดที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็กก็ได้

สภาพแวดล้อมที่สามารถส่งผลให้ผู้คนมีภาวะ Imposter syndrome ได้นั้นส่วนใหญ่จะเป็นสภาพแวดล้อมที่พยายามบังคับให้ต้องขยัน ต้องประสบความสำเร็จ ต้องไม่ผิดพลาด เช่น สภาพแวดล้อมที่มีความแข่งขันและการเปรียบเทียบกันสูง ครอบครัวที่กดดันให้ลูกสอบได้เกรดดี ๆ สถานที่ทำงานที่ตั้งเป้าหมายสูงหรือยากจนเกินไป เป็นต้น หรืออาจเกิดขึ้นในกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญที่ถูกความคาดหวังกดทับให้เก่งขึ้นไปเรื่อย ๆ ไม่เคยพอ รวมถึงคนที่เก่งแต่เกิดที่ไม่เคยเจอและไม่อยากเจอกับความล้มเหลว จึงพยายามหลีกเลี่ยงจากการเป็นผู้แพ้ตลอดเวลา

ยิ่งเมื่อสภาพแวดล้อมเหล่านี้ผสมผสานกับบุคลิกภาพที่มีความเป็น Perfectionist สูง ชอบทำงานด้วยตัวเอง ไม่พึ่งพาคนอื่น บ้างาน ขาดความมั่นใจ ไม่ชอบทำอะไรใหม่ ๆ หรือช่างวิตกกังวล ก็อาจทำให้ Imposter syndrome พัฒนาไปสู่ภาวะซึมเศร้าหรืออารมณ์แปรปรวนได้

ก้าวข้าม Imposter syndrome ด้วยวิธีใดได้บ้าง?

  • เลือกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี
    แน่นอนว่าสำหรับหลาย ๆ คน Imposter syndrome เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก การพาตัวเองออกไปจากพื้นที่ที่กระตุ้นให้ภาวะนี้เกิดขึ้นจึงเป็นทางออกที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนกลุ่มเพื่อน ย้ายงาน หรืออย่างน้อยได้ไปพักผ่อนในสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้ใจฟูได้
  • หาคนที่ไว้ใจเป็นที่พักใจ
    การแบกทุกอย่างไว้คนเดียวนั้นมีแต่จะยิ่งทำให้จิตใจพังลง ลองหาคนที่สบายใจด้วยเป็นที่ปรึกษาหรือที่พึ่งพิงในเวลาที่ความรู้สึกมันล้นจนเกินควบคุมดู ให้พวกเขาเป็นคนโอบอุ้มคุณหรือช่วยให้คุณหลุดออกมาจากความกังวลได้
  • ฝึกแยกแยะความจริงออกจากความคิด
    Imposter syndrome นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหัวเป็นหลักและมักจะส่งผลต่อการตัดสินใจลงมือทำของคุณ แต่ถ้าคุณได้ลองมองผลงานของตัวเองเหมือนมองงานของคนอื่น หรือให้คนที่คุณไว้ใจเป็นคนให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับงานของคุณอย่างตรงไปตรงมา คุณอาจจะได้ความเป็นจริงที่ช่วยให้คุณชื่นชมตัวเองได้อย่างภูมิใจ หรือเห็นสิ่งที่ควรปรับปรุงได้อย่างมีเหตุผลมากขึ้น
  • ยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบ
    ในความเป็นจริง ไม่มีอะไรในโลกที่สมบูรณ์แบบ คุณไม่จำเป็นต้องพัฒนาตัวเองจนดีเยี่ยมไร้ที่ติ แต่ทำให้ตัวเองดีพร้อมก็เพียงพอแล้ว พยายามขีดเส้นของความพอดีให้กับตัวเองและหมั่นรักษาสุขภาพกายใจให้แข็งแรง

Credit: Freepik.com

แม้ว่า Imposter syndrome อาจดูเป็นภาวะที่สามารถเอาชนะได้ยากเพราะต้องอาศัยความแข็งแกร่งทางจิตใจในการตระหนักถึงความรู้สึกของตัวเอง แต่อย่าลืมว่าการก้าวข้าม Imposter syndrome ได้ก็ต้องอาศัยปัจจัยภายนอกร่วมด้วยเช่นกัน การเลือกสิ่งแวดล้อมที่ดีและคนที่ไว้ใจได้ข้างกายนั้นจะช่วยให้คุณอยากเก่งขึ้นโดยไม่ต้องทำร้ายตัวเอง

แหล่งที่มา

Jobtopgun.com

Brightsidepeople.com

Manarom.com