วิธีคิดเบื้องหลังการสร้างสรรค์นวัตกรรมของตะวันตกและตะวันออก
Credit: Adobe.com
ขึ้นชื่อว่า “นวัตกรรม” มันคือสิ่งใหม่ที่สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยทำให้สังคมและเศรษฐกิจดีขึ้น ผ่านการคิดค้น ลองผิดลองถูก จนออกมาเป็นผลผลิตที่ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกได้ แต่สังเกตหรือไม่ว่าสิ่งที่คิดค้นขึ้นมาโดยประเทศตะวันตกและประเทศตะวันออกนั้นมีลักษณะบางอย่างที่ดูแล้วแตกต่างกันอย่างน่าประหลาด ในบทความนี้ เราจะมาสำรวจกันว่าทำไมนวัตกรรมจากทั้ง 2 ฝั่งของโลกนั้นถึงมีความแตกต่างกัน และแฝงวิธีคิดอย่างไรไว้บ้าง
Credit: Pexels.com
บริบทและวัฒนธรรมทำให้นวัตกรรมแตกต่างกัน
เป็นที่น่าสังเกตว่าสิ่งประดิษฐ์บางอย่างอาจถูกมองว่าไม่เป็นประโยชน์ในประเทศหนึ่งแต่กลายเป็นประสบความสำเร็จได้ในประเทศอื่น สิ่งที่กำหนดความต้องการของนวัตกรรมต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่ของโลกก็คือกรอบด้าน ‘บริบท’ และ ‘วัฒนธรรม’ นั่นเอง
ให้ลองนึกดูง่าย ๆ จากบริบทของประเทศไทยก็ได้ คุณคิดว่า “โต๊ะผ้าห่มไฟฟ้า” จะประสบความสำเร็จในไทยหรือไม่? เชื่อว่าหลายคนคงตอบว่าไม่เพราะว่าเมืองไทยเป็นเมืองร้อน ถ้าไม่ได้เปิดแอร์จนหนาวจัดหรืออยู่ต่างจังหวัดในช่วงฤดูหนาวก็คงจะไม่ได้ใช้ แต่สิ่งนี้กลับเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น นั่นก็เพราะว่าอุณหภูมิในช่วงหน้าหนาวของที่นั่นอาจลดลงจนเหลือ -6 องศาเซลเซียสได้
หรืออีกหนึ่งตัวอย่างคือ “รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า” แน่นอนว่าประเทศไทยใช้รถมอเตอร์ไซค์กันเป็นเรื่องปกติ เทคโนโลยีนี้จึงอาจช่วยตอบโจทย์กลุ่มผู้ขับขี่ที่ต้องการประหยัดค่าน้ำมันได้ แต่ถ้านำสิ่งนี้ไปขายที่สหรัฐอเมริกาก็อาจไม่ได้ผลตอบรับที่ดีนัก นั่นก็เพราะว่าวัฒนธรรมการเดินทางด้วยยานพาหนะขนาดเล็กของที่นั่นมักจะนิยมใช้จักรยานและรถสกู๊ตเตอร์มากกว่า ส่วนรถมอเตอร์ไซค์ที่ชาวอเมริกันใช้ก็จะเหไปทางบิ๊กไบค์เพราะสามารถช่วยให้เดินทางได้อย่างปลอดภัยและถูกกฎจราจรของที่นั่น
ในขณะเดียวกัน ‘บริบท’ และ ‘วัฒนธรรม’ ก็ส่งผลต่อการคิดค้นนวัตกรรมเช่นกัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างในการคิดและออกแบบระหว่างทั้ง 2 ซีกโลกได้ดังนี้
Credit: Unsplash.com
นวัตกรรมพลิกโฉมวงการ vs. นวัตกรรมพัฒนาวงการ
ด้วยความที่คนในประเทศตะวันตกนั้นมีความเป็นตัวของตัวเองสูง นวัตกรรมที่พวกเขาเป็นผู้คิดค้นจึงมักจะออกมาในรูปแบบของเทคโนโลยีหรือบริการที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการโดยสิ้นเชิง ยกตัวอย่างที่ทุกคนคุ้นเคยเช่น Google (สหรัฐอเมริกา) ในสมัยก่อนการค้นหาข้อมูลเกิดขึ้นเพียงแค่ในห้องสมุดเท่านั้นซึ่งต้องพบกับอุปสรรคมากมายกว่าจะได้พบเนื้อหาที่ต้องการ แต่นับตั้งแต่ Google เปิดตัวขึ้น การหาความรู้ก็ง่ายขึ้นอย่างเหลือเชื่อ เรียกได้ว่าเป็นการพลิกโฉมวงการการค้นหาข้อมูลเลย
ส่วนประเทศตะวันออกจะสร้างนวัตกรรมที่ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงวงการทีละนิด เนื่องจากวัฒนธรรมการประนีประนอมทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้แบบพลิกแผ่นดิน ยกตัวอย่างเช่น Lark (สิงคโปร์) แอปพลิเคชันสำหรับการทำงานที่ครบวงจร รวบรวมทั้งฟังก์ชั่นการส่งข้อความ ปฏิทิน การทำเอกสาร การประชุมออนไลน์ และอื่น ๆ อีกมากมายที่ตอบทุกโจทย์ของการทำงานไว้ที่เดียว อย่างที่ทุกคนสังเกตได้ แต่ละฟังก์ชั่นนั้นไม่ได้มีสิ่งใดแปลกใหม่ เพียงแต่แอปพลิเคชันนี้เป็นการรวมทุกฟังก์ชั่นที่จำเป็นต่อการทำงานไว้ในที่เดียว ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้แวดวงการทำงานได้เป็นอย่างมาก
Credit: Unsplash.com
นวัตกรรมแก้ปัญหา vs. นวัตกรรมสร้างวิถีใหม่
โดยส่วนมากแล้ว ประเทศตะวันออกจะเน้นพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาที่มีอยู่ในสังคมปัจจุบัน มุ่งเน้นการทำให้สิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้าดีขึ้น หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจของเคสนี้ก็คือ Grab (มาเลเซีย) อุปสรรคสำคัญที่ชาวมาเลเซียก็พบเจอไม่ต่างจากชาวไทยคือแท็กซี่ไม่ยอมรับผู้โดยสารและไม่ปลอดภัย จึงทำให้มีกลุ่มนักพัฒนาธุรกิจด้านเทคโนโลยีสร้างสรรค์แอปพลิเคชันที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเรียกรถให้กับผู้โดยสารได้ในราคาที่เป็นธรรม นอกจากจะแก้ปัญหาของผู้โดยสารแล้ว Grab ยังช่วยให้คนขับมีลูกค้าในขอบเขตพื้นที่ที่กว้างขึ้นด้วย
ในทางกลับกัน ประเทศตะวันตกมักจะคิดค้นนวัตกรรมที่สร้างความต้องการใหม่ขึ้นมา หรือมองว่าเป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ จากจินตนาการเลยก็ว่าได้ ยกตัวอย่างเช่นรถยนต์ไร้คนขับของ Tesla (สหรัฐอเมริกา) ในขณะที่ผู้คนทั่วทั้งโลกขับรถยนต์กันเป็นเรื่องปกติแล้ว Tesla ได้ถือกำเนิด ‘วิถีใหม่’ ของการเดินทางขึ้นมาด้วยรถยนต์ที่ขับเคลื่อนได้โดยอัตโนมัติเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้คนมากขึ้น อาจกล่าวได้ว่าไอเดียของ Tesla นั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาโดยเฉพาะ แต่สร้างขึ้นเพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้กับผู้ใช้งาน สร้าง ‘วิถีใหม่’ ของการขับขี่ขึ้นมา
Credit: Pexels.com
นวัตกรรมที่แตกต่าง vs. นวัตกรรมที่เน้นการใช้งานจริง
เป็นที่น่าสนใจว่าประเทศตะวันตกมักจะคิดค้นนวัตกรรมที่หลายครั้งมุ่งเน้นความแปลกใหม่ เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสังคม อย่างเช่น IBM (สหรัฐอเมริกา) ที่ผลิตโทรศัพท์มือถือ Touch Screen ขึ้นมาเครื่องแรกของโลกที่มีชื่อว่า IBM Simon เมื่อปี พ.ศ. 2535 ซึ่งแหวกแนวจากโทรศัพท์ที่เป็นปุ่มกดในตลาด ณ ขณะนั้นเป็นอย่างมาก ผู้คนก็ให้ความสนใจและต้องใช้เวลาในการปรับตัวสักพักกับเทคโนโลยีนี้ แต่ที่แน่ ๆ คือ IBM Simon ก็เป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาอุปกรณ์เทคโนโลยีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันอย่าง iPhone
ส่วนประเทศตะวันออกมักจะเน้นพัฒนานวัตกรรมที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเรียนรู้วิธีการใช้งานได้ไม่ยาก ต่อยอดจากสิ่งที่คุ้นเคยอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน เรียกได้ว่าแกะกล่องปุ๊บ เรียนรู้อีกนิดหน่อยก็ใช้งานได้เลย ยกตัวอย่างเช่น หม้อหุงข้าวไฟฟ้า (ญี่ปุ่น) ที่พัฒนาขึ้นมาครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2483 โดยบริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค ในสมัยก่อน การหุงข้าวนั้นใช้วิธีการตั้งหม้อบนเตาดินและใช้ความร้อนจากฟืนไม้ในการทำให้ข้าวสุก แต่เมื่อหม้อหุงข้าวไฟฟ้าได้ถือกำเนิดขึ้น วิถีชีวิตเปลี่ยนไป เพียงแค่กดปุ่มให้เครื่องทำงานเท่านั้นก็เป็นที่เรียบร้อย
นวัตกรรมที่เกิดขึ้นมาบนโลกนั้นไม่มีถูกหรือผิด มีแค่ถูกจริตหรือเข้ากับวัฒนธรรมแบบไหนมากกว่ากันเพียงเท่านั้น แต่ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมของตะวันตกหรือตะวันออกต่างก็ต้องใหม่และเป็นประโยชน์เหมือนกัน ไม่อย่างนั้นคงเรียกว่านวัตกรรมไม่ได้หรอก
แหล่งที่มา