เปลี่ยนแบรนด์ให้มีชีวิต!เผยกลยุทธ์การทำการตลาดด้วยมาสคอต (Mascot Marketing) ดันธุรกิจสู่ความสำเร็จ

Credit: Pexels.com, Butterbear.th, Bank of Ayudhya

ในยุคดิจิทัลที่เต็มไปด้วยโอกาสและคู่แข่งมากมายการสร้างตัวตนที่โดดเด่นบนโลกออนไลน์กลายเป็นสิ่งที่ธุรกิจไม่ควรมองข้าม “มาสคอต” จึงไม่ใช่แค่ภาพจำของแบรนด์เพียงเท่านั้น แต่เปรียบเสมือนทูตนำทางที่ช่วยดึงดูดความสนใจ สร้างการจดจำ และประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า จึงเป็นที่มาของการทำการตลาดด้วยมาสคอต (Mascot Marketing) นั่นเอง

Credit: Unsplash.com

การทำการตลาดด้วยมาสคอต (Mascot Marketing) คืออะไร?

กลยุทธ์การตลาดที่มาแรงและกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบันอย่าง Mascot Marketing คือ การตลาดที่ใช้ตัวละคร (มาสคอต) มาเป็นตัวแทนของแบรนด์ในการสื่อสาร แสดงภาพลักษณ์ และสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมาย ช่วยให้แบรนด์มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มาสคอตช่วยเพิ่มยอดขาย

·      ดึงดูดสายตาสะกดใจ: ด้วยดีไซน์ที่สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ ช่วยกระตุ้นให้เกิดการรับรู้และการจดจำแบรนด์ที่ยาวนาน

·      สื่อสารชัดตรงประเด็น: แบรนด์สามารถใช้ตัวละครถ่ายทอดเรื่องราว ค่านิยม จุดยืน ผ่านท่าทาง อารมณ์ และคำพูดของตัวละครนั้นได้

·      สร้างความใกล้ชิดกับลูกค้า: ตัวละครของแบรนด์อาจช่วยสร้างความรู้สึกเป็นกันเองและความผูกพันกับกลุ่มเป้าหมาย กระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมกับแบรนด์

·      สร้างกิจกรรมกระตุ้นการมีส่วนร่วม: แบรนด์สามารถนำมาสคอตมาช่วยสร้างสีสันในกิจกรรมส่งเสริมการขายต่าง ๆ เช่น การเปิดตัวสินค้า การจัดโปรโมชั่น การออกสินค้าลิขสิทธิ์  รวมไปถึงการเล่นเกมและการแจกของรางวัล เพื่อมอบประสบการณ์ที่สนุกสนาน แปลกใหม่ กระตุ้นให้เกิดการเข้าร่วมกิจกรรม นำไปสู่การเพิ่มยอดขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

·      สร้างกระแสไวรัล: ในโลกออนไลน์ การนำเสนอเนื้อหาที่มีความคิดสร้างสรรค์ สนุกสนาน ดึงดูดความสนใจ โดยใช้มาสคอตเป็นตัวเอก มีโอกาสที่จะกลายเป็นที่นิยมในผู้คนหมู่มาก สร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ในวงกว้าง และเพิ่มจำนวนผู้ติดตาม

Credit: Pexels.com

หลักการสร้างมาสคอต: เปลี่ยนตัวการ์ตูนให้มีชีวิตเพื่อมัดใจลูกค้า

1. ค้นหา DNA: ออกแบบตัวตนที่แท้จริงของตัวละคร

การสร้างตัวละครให้มีชีวิตและสื่อสารความเป็นแบรนด์ของเราได้ เริ่มต้นด้วยการตอบคำถามเหล่านี้

  • มาสคอตตัวนี้เป็นใคร? มาจากไหน? ต้องการให้มีความสัมพันธ์อย่างไรกับลูกค้า? มีนิสัยอย่างไร?
  • อะไรคือสิ่งที่แบรนด์ต้องการสื่อสาร อาจจะเป็นวิสัยทัศน์ เป้าหมาย หรือตัวตนของแบรนด์ เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์และจุดยืนของแบรนด์
  • กลุ่มเป้าหมายของแบรนด์คือใคร? บุคลิกของตัวละครควรจะต้องออกแบบให้เข้าถึงและดึงดูดใจกลุ่มเป้าหมายได้

คำตอบของคำถามเหล่านี้จะช่วยหล่อหลอมตัวตนของมาสคอตให้ชัดเจน เป็นเอกลักษณ์ และสอดคล้องกับทิศทางของแบรนด์

2. ออกแบบรูปลักษณ์:สร้างเสน่ห์ดึงดูดใจ

เมื่อสร้าง DNA ขึ้นมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการออกแบบรูปลักษณ์ภายนอก สิ่งสำคัญคือมาสคอตควรมีรูปลักษณ์ที่

  • น่าจดจำ: สะดุดตา แตกต่าง และสามารถสร้างการจดจำได้ตั้งแต่แรกเห็น
  • เข้าถึงง่าย: กำหนดบุคลิกให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น ความน่ารัก ความเท่ ความตลก แต่ยังคงสามารถสื่อถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้อย่างชัดเจน
  • สื่ออารมณ์: รูปลักษณ์ภายนอกควรสื่อถึงบุคลิกและนิสัยของมาสคอต เพื่อช่วยให้ลูกค้ารู้สึกคุ้นเคยและผูกพัน

เคล็ดลับง่าย ๆ สำหรับช่วยออกแบบรูปลักษณ์ของมาสคอตให้ดูน่าสนใจคือ ลองนึกภาพว่าลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของแบรนด์เป็นใคร? พวกเขามีไลฟ์สไตล์อย่างไร? อะไรคือสิ่งที่พวกเขาชอบ?

3. ปั้น Storytelling: หล่อหลอมพฤติกรรมและสร้างความผูกพัน

มาสคอตที่สมบูรณ์แบบควรมีเรื่องราวภูมิหลังที่น่าสนใจ หล่อหลอมพฤติกรรม ความคิด ทัศนคติ และเป้าหมายของชีวิต เหมือนกับตัวละครในภาพยนตร์ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกค้าเข้าใจ คล้อยตาม เกิดเป็นความผูกพันและการจดจำต่อแบรนด์

4. นำมาสคอตไปใช้ชีวิต:สื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ

มาสคอตไม่ใช่แค่ตัวการ์ตูนที่ยืนให้ถ่ายรูปเท่านั้น แต่ควรมีชีวิตชีวาเหมือนมนุษย์จริง ลองให้มาสคอตมี Facebook Instagram เป็นของตัวเอง ลงรูปภาพ วิดีโอ แชร์เรื่องราว ตอบโต้กับลูกค้า สร้างความสัมพันธ์เหมือนเป็นเพื่อนคนหนึ่ง ยิ่งมีมิติความเป็นมนุษย์มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเข้าถึงใจคนได้มากขึ้นเท่านั้น

มาสคอตที่ดีควรเป็นผู้นำเทรนด์ ติดตามข่าวสาร อยู่ในกระแสสังคมตลอดเวลา ใช้กลยุทธ์ Real-Time Marketing สร้างคอนเทนต์ที่ทันต่อเหตุการณ์ ดึงดูดความสนใจ จะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมให้กับแบรนด์ได้

Credit: x.com/butterbear_th

ถอดความลับเบื้องหลังความสำเร็จของ “น้องหมีเนย” ButterBear จากคาเฟ่สู่ซูเปอร์สตาร์

ความโด่งดังของ “น้องหมีเนย” มาสคอตสุดน่ารักจาก ButterBear Cafe ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่เป็นผลมาจากการผสมผสานกลยุทธ์ Storytelling และ Mascot Marketing เข้าด้วยกัน โดยหัวใจสำคัญคือการสร้างคาแรคเตอร์ “น้องหมีเนย” ที่ถูกออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน ตั้งแต่รูปลักษณ์ที่น่ารัก อ่อนหวาน บุคลิกที่ร่าเริง สดใส เข้าถึงง่าย ไปจนถึงชื่อที่สื่อถึงผลิตภัณฑ์ของร้านอย่างลงตัว ควบคู่ไปกับการใช้ Social Media Marketing อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นการสร้างคอนเทนต์ที่เป็นกระแสได้อย่างสนุกสนานและตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายจนเป็นที่รู้จัก ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอการเต้นของน้อง คลิปรีวิวขนม หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่ล้วนดึงดูดผู้คนให้ติดตาม แชร์ และพูดถึงแบรนด์อย่างต่อเนื่อง

ในตอนนี้ คอนเทนต์ของ “น้องหมีเนย” มียอดการมีส่วนร่วมพุ่งสูงกว่า 13 ล้านครั้งบนสื่อโซเชียลต่าง ๆ ของตัวเอง โดยเฉพาะใน TikTok ที่มียอดผู้ติดตามเกือบ 6 แสนราย รวมไปถึงช่องทางอื่น ๆ อย่าง Facebook และ Instagram อีกด้วย ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีกลุ่มแฟนคลับที่ทำ Fan Art ให้ “น้องหมีเนย” แทบทุกวัน ซึ่งช่วยเป็นกระบอกเสียงในการสื่อสารแบรนด์โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลย นอกจากนี้ ทางแบรนด์ยังมีกิจกรรมสุดพิเศษที่กระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วม เช่น กิจกรรม Meet & Greet สินค้า Limited Edition ซึ่งช่วยให้ลูกค้ารู้สึกผูกพันกับแบรนด์ บอกต่อ และสร้างกระแสไวรัลแบบปากต่อปาก ขยายสู่กลุ่มเป้าหมายใหม่ได้ ส่งผลให้หน้าร้านมีการต่อคิวซื้อขนมและสินค้าของทางร้านไม่น้อยกว่า 100 คิวในช่วงที่มีกิจกรรม

Credit: Bank of Ayudhya

การทำ Mascot Marketing ให้ประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยหลักการและเทคนิคที่ถูกต้อง แบรนด์ของคุณก็สามารถมีตัวละครสุดพิเศษที่ดึงดูดใจลูกค้า สร้างการจดจำ และผลักดันธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ด้วย เช่นปรากฏการณ์ความนิยมของ ButterBear ที่เปิดโอกาสให้แบรนด์ได้ทดลองกลยุทธ์การตลาดและการสร้างสรรค์คอนเทนต์ใหม่ ๆ รวมถึงเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้น้องหมีเนย ButterBear โด่งดังไปทั่วประเทศ ได้ร่วมงานกับแบรนด์อื่น ๆ จนตอนนี้ความนิยมไปไกลถึงต่างประเทศเรียบร้อยแล้ว

อ่านงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้มาสคอตเพื่อการรับรู้แบรนด์เพิ่มเติมได้ที่นี่ https://so06.tci-thaijo.org/index.php/utccjournalhs/article/view/176990  

สำหรับใครที่อยากพาธุรกิจไปไกลระดับโลก เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นไปสู่ความสำเร็จในโลกธุรกิจ มาเรียนกับเราที่ สาขาธุรกิจระหว่างประเทศและการเป็นผู้ประกอบการ (International Business and Entrepreneurship) วิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (TNIC) ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://tnic.tni.ac.th/ibn-program/

แหล่งที่มา

Positioningmag.com

Vithita.com

Talkatalka.com

Sphereagency.com

Marketingoops.com