ทำงานกับวัฒนธรรมที่แตกต่างอย่างราบรื่นด้วย Cross-Cultural Management
ในยุคโลกาภิวัตน์ การขยายธุรกิจและการทำงานร่วมกับผู้คนจากหลากหลายวัฒนธรรมกลายเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป ทว่า ด้วยวัฒนธรรมที่ต่างกันก็มักจะทำให้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเข้าใจผิดหรือความขัดแย้งได้ Cross-Cultural Management หรือ “การจัดการข้ามวัฒนธรรม” จึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ทำให้ผู้คนต่างวัฒนธรรมสามารถทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายและประสบความสำเร็จร่วมกันได้เป็นอย่างดี
Credit: Pexels.com
Cross-Cultural Management คืออะไร?
Cross-Cultural Management คือ การจัดการกับความแตกต่างในสถานการณ์ที่บุคลากรจากต่างวัฒนธรรม ความเชื่อ ค่านิยม ธรรมเนียมปฏิบัติ สไตล์การสื่อสาร หรือมารยาททางธุรกิจ จำเป็นต้องมาทำงานร่วมกัน โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างการยอมรับ และใช้ประโยชน์จากความแตกต่างทางวัฒนธรรมเหล่านั้นในการบรรลุเป้าหมายที่มีร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เรียกได้ว่า Cross-Cultural Management เป็นการหาจุดตรงกลางหรือจุดร่วมที่ทำให้วัฒนธรรมที่ต่างกันสามารถเดินหน้าทำงานไปด้วยกันได้
อะไรบ้างคืออุปสรรคในการทำงานกับคนต่างวัฒนธรรม?
- การสื่อสาร
อุปสรรคด้านการสื่อสารนั้นเป็นสิ่งสามารถเผชิญได้ทั่วทั้งโลก ไม่เพียงแต่ความแตกต่างทางด้านภาษาระหว่างประเทศ แต่ยังรวมถึงสำเนียงและภาษาถิ่นที่แตกต่างกันไปตามภูมิภาค เช่น ภาษาอังกฤษสำเนียงลอนดอนก็จะแตกต่างจากสำเนียงแมนเชสเตอร์ ซึ่งในบางครั้งอาจมีการใช้คำแสลงหรือการออกเสียงคำที่แตกต่างกัน อุปสรรคด้านการสื่อสารยังครอบคลุมมากกว่าเรื่องของภาษาพูด เพราะมันรวมถึงความแตกต่างในรูปแบบของการแสดงออกอื่น ๆ อีกที่แปรผันตามแต่ละวัฒนธรรม เช่น สีหน้า ท่าทาง ภาษากาย อารมณ์ น้ำเสียง หรือแม้แต่ความตรงไปตรงมาในการแสดงออก ที่อาจจะทำให้เกิดการตีความผิดพลาดได้ - ค่านิยมในการทำงาน
ในแต่ละวัฒนธรรมจะมีจริยธรรมหรือค่านิยมในการทำงานที่แตกต่างกัน เช่น ผู้คนในบางประเทศฝั่งตะวันออกอาจจะไม่ได้มีปัญหากับการทำงานล่วงเวลาเพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนดโดยหัวหน้าทีม ในขณะที่ประเทศฝั่งตะวันตกอาจไม่เห็นด้วยกับการทำงานเกินเวลาที่ตกลงไว้ หรือในบางวัฒนธรรม การมาสายไม่เกิน 5 นาทีถือว่าอนุโลมได้ ในขณะที่สำหรับบางแห่งถือเป็นการไม่ให้เกียรติอีกฝ่าย ซึ่งค่านิยมที่แตกต่างนี้ก็อาจสร้างความขัดแย้งภายในที่ทำงานได้ - อคติ
อคติ เกิดขึ้นจากการหลอมรวมประสบการณ์ ความเชื่อส่วนบุคคล และสิ่งแวดล้อมที่บุคคลนั้นเติบโตขึ้นมาจนกลายเป็นมุมมองที่มีต่อบางสิ่งบางอย่างในทิศทางที่ชัดเจน ในการทำงาน อคติที่มีต่อวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน รวมถึงเชื้อชาติ ภาษา สำเนียง สีผิว ฯลฯ อาจส่งผลต่อการรับรู้และการมีปฏิสัมพันธ์กันของคนทีมได้ ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษให้กับคนในทีมได้ ซึ่งอคติที่ว่าอาจส่งผลกระทบในเชิงบวกหรือเชิงลบก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มคนที่เป็นชนกลุ่มน้อยทางศาสนามักจะได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากคนอื่น ๆ หรือชาวตะวันตกในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักจะได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่าชาติอื่น ๆ เป็นต้น - วัฒนธรรมการทำงานอื่น ๆ
บางประเทศจะมีสไตล์หรือวัฒนธรรมเกี่ยวกับการทำงานที่เฉพาะตัว เช่น ประเทศญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการเลี้ยงฉลองหลังเลิกงานที่ลูกน้องต้องไปกับหัวหน้าแบบปฏิเสธได้ยาก ซึ่งอาจทำให้คนจากประเทศอื่นรู้สึกอึดอัดได้ หรือในด้านสไตล์การตัดสินใจ บางวัฒนธรรมให้ความสำคัญกับการตัดสินใจแบบกลุ่มเพื่อให้ได้ฉันทมติ ในขณะที่บางวัฒนธรรมเลือกที่จะไม่แสดงความคิดเห็นและเป็นผู้ตามที่ดีของหัวหน้ามากกว่า เป็นต้น
Credit: Pexels.com
Cross-Cultural Management ใช้เทคนิคใดบ้างในการก้าวข้ามอุปสรรคดังกล่าว?
- ตระหนักรู้ในตนเอง
การเริ่มที่ตนเองสำคัญที่สุด สำหรับ Cross-Cultural Management การตระหนักรู้ในตนเองนั้นเริ่มจากการยอมรับว่า ธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมของตนเองนั้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นสากล รวมถึงวัฒนธรรมของเราก็อาจจะถูกมองว่าแปลกและแตกต่างในสายตาคนอื่นได้เหมือนกัน หากเราสามารถยอมรับแนวคิดนี้ได้ การทำความเข้าใจผู้อื่นที่แตกต่างก็จะเป็นเรื่องง่ายขึ้น - ก้าวข้ามกำแพงภาษา
ควรใส่ใจกับภาษาที่ใช้สื่อสารระหว่างกันทั้งภาษาพูดและภาษากาย หลีกเลี่ยงการใช้ภาษาที่ยาก ซับซ้อน หรือไม่ชัดเจน นอกจากนี้ยังควรเลี่ยงการพูดในเชิงลบหรือถ้อยคำไม่สุภาพเพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทริกเล็ก ๆ ที่ได้ผลในการทำงานกับคนจากต่างภูมิภาคคือการเรียนรู้และใช้คำในภาษาถิ่นของพวกเขาเพื่อเป็นการละลายพฤติกรรมและเปิดใจของอีกฝ่าย - ให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียม
ในมุมขององค์กร การให้ความเท่าเทียมแก่พนักงานทุกคน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการปฏิบัติตัว การจ้างงาน การเปิดโอกาสให้แสดงความสามารถและความคิดเห็น หรือแม้แต่การเลื่อนตำแหน่งหรือการปรับเงินเดือน นับเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยทำให้พนักงานรู้สึกว่า แม้จะมาจากต่างวัฒนธรรมกัน พวกเขาก็เป็นพวกเดียวกัน - กำหนดเป้าหมายของทีมอย่างชัดเจน
ควรมีการกำหนดเป้าหมายของทีมตั้งแต่เริ่มต้นการทำงาน เพื่อที่ทุกคนในทีมจะให้ความสำคัญกับการพยายามทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพจนกว่าจะพิชิตเป้าหมายได้ - จัดการความขัดแย้ง
ในองค์กรที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความขัดแย้งกันระหว่างการทำงานเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การระบุความขัดแย้งให้แม่นยำและจัดการอย่างทันท่วงที เป็นกลาง สร้างสรรค์ และยุติธรรม จะช่วยบรรเทาปัญหาและสร้างบรรยากาศที่ดีขึ้นในที่ทำงานได้ - เรียนรู้ความแตกต่างทางวัฒนธรรมร่วมกัน
Cross-Cultural Management จะสำเร็จไม่ได้ถ้าขึ้นอยู่กับคนเพียงคนเดียว ดังนั้น ต้องมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกคนรู้จักและเข้าใจวัฒนธรรมต่าง ๆ มากขึ้น ผ่านกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มื้ออาหารร่วมกัน หรือแม้แต่การพูดคุยที่เป็นกันเอง เพื่อให้ทุกคนยอมรับในความแตกต่างได้มากขึ้น
Credit: Pexels.com
Cross-Cultural Management ใช้ทักษะใดบ้าง?
- ทักษะการตระหนักรู้ทางวัฒนธรรม
ผู้ที่จะนำ Cross-Cultural Management ไปใช้งานได้ควรจะต้องมีความรู้ความเข้าใจมิติทางวัฒนธรรมที่สำคัญและหลากหลาย เช่น ค่านิยม บรรทัดฐาน ประเพณี ภาษา ศาสนา ฯลฯ เพื่อให้เกิดความเห็นอกเห็นใจและเคารพในความแตกต่างของผู้อื่น - ทักษะการปรับตัวและยืดหยุ่น
เพื่อนร่วมงานแต่ละคนมีพื้นฐานความเข้าใจและความยึดมั่นในวัฒนธรรมของตนที่ไม่เท่ากัน ดังนั้น ทักษะการปรับตัวและยืดหยุ่นให้เข้ากับทุกสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ได้เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ Cross-Cultural Management ประสบความสำเร็จ - ทักษะการสื่อสารและการสร้างความสัมพันธ์
Cross-Cultural Management อาศัยการสื่อสารและการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีเป็นพื้นฐานเพื่อผลักดันให้มวลรวมของทีมดีขึ้น แข็งแกร่ง และมั่นคง - ทักษะการทำงานเป็นทีม
ทักษะนี้ครอบคลุมไปถึงการตระหนักถึงเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการทำงานร่วมกัน การเข้าใจบทบาทหน้าที่ จุดแข็ง จุดอ่อนของตนเองและผู้อื่น เพื่อจะได้โฟกัสไปข้างหน้าและช่วยเหลือกันจนบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ - ทักษะการแก้ปัญหา
Cross-Cultural Management อาศัยทักษะการวิเคราะห์และระบุสาเหตุของปัญหาว่ามาจากตัวบุคคลหรือความแตกต่างทางวัฒนธรรม เพื่อหาทางแก้ไขอย่างรวดเร็วก่อนที่จะบานปลายและส่งผลเสียต่อการทำงาน
Credit: Pexels.com
Cross-Cultural Management เป็นอีกหนึ่งศาสตร์สำคัญในการทำงานกับชาวต่างชาติหรือผู้คนจากต่างภูมิภาคให้มีประสิทธิภาพ แถมเพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้ด้วย ก้าวเข้าสู่เวทีธุรกิจโลกอย่างเชี่ยวชาญและมั่นใจไปกับสาขาธุรกิจระหว่างประเทศและการเป็นผู้ประกอบการ (International Business and Entrepreneurship) วิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยี ไทย-ญี่ปุ่น (TNIC)
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://tnic.tni.ac.th/th/ibn-program-th/
แหล่งที่มา