เผยความลับ! เบื้องหลังความฉลาดของ AI ChatGPT
Credit: Pexels.com
หากเราต้องการสืบค้นข้อมูลสำหรับการเรียน การทำงาน หรือเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน ก็มักจะนึกถึงการใช้ Search Engine ยอดนิยมอย่าง Google Yahoo Bing และ Baidu ฯลฯ ที่อาจต้องค้นหาแล้วค้นหาอีกกว่าจะเจอคำตอบที่ต้องการ บางครั้งก็เจอข้อมูลที่ไม่อัปเดต ไม่ครบถ้วน หรือเจอโฆษณาออนไลน์เต็มไปหมด แต่ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้เข้ามามีบทบาทในการสืบค้นข้อมูลมากขึ้น เช่น ‘ChatGPT’ AI Chatbot อัจฉริยะที่มาแรงในขณะนี้ เปรียบเสมือนเป็นผู้ช่วยที่สามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ และสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เพียงแค่ป้อนคำสั่งลงไป เบื้องหลังของความอัจฉริยะของ ChatGPT คืออะไร สามารถติดตามได้ในบทความนี้
Credit: Pexels.com
ChatGPT คืออะไร?
ChatGPT คือ AI Chatbot ที่ถูกพัฒนาโดยบริษัท OpenAI ซึ่งคำว่า ChatGPT ย่อมาจาก ‘Chat Generative Pre-training Transformer’ หมายถึงโปรแกรม AI ประเภท “โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model: LLM)” ที่ถูกเทรนด้วยข้อมูลมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นแหล่งข้อมูลจากหนังสือ บทความ เอกสาร หรือแม้แต่ข้อมูลในอินเตอร์เน็ต จนสามารถสร้างข้อความที่มีความหมายตามบริบทต่าง ๆ ให้ใกล้เคียงกับภาษาของมนุษย์ได้มากที่สุด
ความสามารถของ ChatGPT มีอะไรบ้าง?
- สนทนาโต้ตอบกับผู้ใช้งานได้อย่างเป็นธรรมชาติ สามารถตอบคำถาม ให้ข้อมูล หรือแสดงความคิดเห็นในหัวข้อต่าง ๆ ได้
- เขียนเนื้อหาประเภทต่าง ๆ ได้ เช่น บทความ สคริปต์ อีเมล์ เนื้อเพลง ฯลฯ โดยที่ผู้ใช้สามารถกำหนดโจทย์ให้สร้างสรรค์และเขียนเนื้อหาต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับรูปแบบและสไตล์ที่ผู้ใช้ต้องการได้
- สรุปความและแปลภาษาได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ โดยรองรับมากกว่า 85 ภาษาทั่วโลก รวมถึงภาษาไทยด้วย และสามารถแปลได้ทั้งข้อความสั้นและประโยคยาว ๆ
- เขียนโค้ดได้ในระดับเบื้องต้นสำหรับงานประเภทต่างๆ เช่น พัฒนาเว็บไซต์ เขียนโปรแกรม วิเคราะห์ข้อมูล ฯลฯ ทั้งยังรองรับภาษาโปรแกรมหลายภาษา ไม่ว่าจะเป็น HTML, CSS, JavaScript, Python และอื่น ๆ
Credit: Pexels.com
ChatGPT คุยกับผู้ใช้เข้าใจได้อย่างไร?
สำหรับมนุษย์แล้ว ขั้นตอนการสื่อสารอย่างคร่าว ๆ ประกอบไปด้วยการรับข้อมูลเข้ามา (ฟังหรืออ่าน) การตีความ การสร้างเนื้อหาขึ้นมา และการส่งข้อมูลกลับไป (พูดหรือเขียน) ChatGPT ก็ไม่ต่างจากมนุษย์ ขั้นตอนที่ AI อัจฉริยะนี้ใช้พูดคุยกับผู้ใช้มีดังนี้
1. รับข้อมูล
อันดับแรก โปรแกรมจะรับข้อมูลจากผู้ใช้ในรูปแบบคำถามหรือคำสั่ง เรียกว่า ‘Prompt’ ซึ่งความชัดเจนและครบถ้วนของคำสั่งที่ถูกป้อนเข้าไปส่งผลต่อประสิทธิภาพของคำตอบที่ได้ออกมา
2. แตกข้อมูลเป็นหน่วยย่อยและแปลงเป็นตัวเลข
ต่อมา โปรแกรมจะแตกข้อความจากผู้ใช้ออกเป็นโทเค็น (Token) หรือก็คือหน่วยย่อยที่เล็กที่สุดของข้อมูล เช่น คำ ตัวอักษร หรือสัญลักษณ์ และนำไปแปลงเป็นชุดตัวเลข ก่อนที่จะส่งต่อไปที่ขั้นตอนต่อไป
3. ประมวลผลโทเค็นด้วย Neural Network
จากนั้นก็เป็นขั้นตอนของการถอดรหัสโทเค็นด้วย Neural Network ซึ่งเปรียบเหมือนระบบประสาทของสมองมนุษย์ โดยจะมีการตีความ วิเคราะห์ความหมาย และประมวลผลข้อมูลที่ได้มาให้ตรงกับบริบท รวมถึงเจตนาที่ผู้ใช้ต้องการสื่อมากที่สุด
4. สร้างสรรค์ข้อความตอบกลับ
จุดนี้เป็นจุดที่น่าทึ่งของ ChatGPT ก็ว่าได้ เพราะมันจะสร้างข้อความตอบกลับโดยไม่เพียงคำนึงถึงข้อมูลหรือความรู้ที่ครอบคลุมประเด็นของ Prompt ที่ได้รับ แต่ยังสร้างข้อความตอบกลับได้ในทุกรูปแบบภาษา ตั้งแต่ระดับกันเองไปจนถึงทางการ มีความเป็นวิชาการไปจนถึงมีชั้นเชิงทางศิลปะ และอีกหลากหลายรูปแบบตามที่ผู้ใช้ป้อนคำสั่งเข้ามา
5. แสดงผลลัพธ์
ในขั้นตอนสุดท้าย โปรแกรมจะแสดงข้อความตอบกลับให้ผู้ใช้เห็นในรูปแบบการสนทนาที่ดูแล้วเข้าถึงง่าย ดังภาพตัวอย่างต่อไปนี้
Credit: Chatgpt.com/
เบื้องหลังความอัจฉริยะของ ChatGPT มีอะไรบ้าง?
แน่นอนว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ ChatGPT ผ่านการพัฒนาและฝึกฝนมาอย่างเข้มข้น ซึ่งโดยสรุปแล้วมีองค์ประกอบดังนี้
- การเรียนรู้ของปัญญาประดิษฐ์ (Machine learning) โดยมี Machine Learning Engineer อยู่เบื้องหลัง คอยพัฒนาความรู้ความเข้าใจของ AI ต่อข้อมูลที่หลากหลายจนเกิดเป็นโมเดลภาษาขนาดมโหฬาร และสร้างให้ AI สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้
- คลังข้อมูลมหาศาลจากหลากหลายแหล่งที่มาที่นำมาป้อนให้กับโปรแกรม ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ บทความ ข่าว วิทยานิพนธ์ หรือแม้แต่ความเห็นในสื่อโซเชียลและพยากรณ์อากาศ
- Reinforcement Learning หรือการเรียนรู้แบบเสริมแรง คือการฝึกให้ AI แสดงผลลัพธ์ที่ดีที่สุดหรือตรงกับความต้องการของผู้ใช้มากที่สุดอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่ง ChatGPT เรียนรู้การหาผลลัพธ์ที่ดีที่สุดผ่านการประเมินและให้ข้อเสนอแนะจากมนุษย์นั่นเอง
อะไรคือข้อจำกัดของ ChatGPT บ้าง?
ข้อมูล
เนื่องจากข้อมูลที่ ChatGPT เรียนรู้นั้นไม่ใช่ข้อมูลที่ผ่านการกลั่นกรองจากประสบการณ์หรือการวิจัยเหมือนมนุษย์ แต่เป็นการเรียนรู้และวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่ในอินเตอร์เน็ต ดังนั้นผลลัพธ์ที่ได้อาจมีอคติหรือไม่ถูกต้อง ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของข้อมูลที่ใช้ฝึก และหากคำถามหรือคำสั่งที่ได้รับเกินขอบเขตความรู้ของ ChatGPT ไป คำตอบที่ได้อาจผิดพลาด บิดเบือน หรือไม่มีหลักฐานรองรับได้
ความเข้าใจ
ในบางครั้ง ChatGPT อาจไม่สามารถเข้าใจบริบทหรือเจตนาของผู้ใช้ได้ทั้งหมด เช่น ความเชื่อ ค่านิยม หรือวัฒนธรรมของผู้ใช้ ดังนั้น ผู้ใช้ควรป้อนข้อมูลและคำสั่งอย่างชัดเจน รวมถึงบริบทดังกล่าวเพื่อให้ AI เข้าใจและตอบคำถามได้ตรงประเด็น
ความคิดสร้างสรรค์และอารมณ์
ChatGPT สามารถสร้างสรรค์เนื้อหาได้จากข้อมูลที่มีอยู่เท่านั้น ยังขาดความคิดริเริ่มและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ แบบมนุษย์ รวมถึงการเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกที่ลึกซึ้งของมนุษย์ด้วย
ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล
การเรียนรู้และพัฒนาตัวเองของ ChatGPT ส่วนหนึ่งมาจากข้อมูลที่ถูกป้อนเข้าไปด้วย ดังนั้นผู้ใช้จึงควรระมัดระวังในการใช้ข้อมูลที่เป็นความลับ ไม่อย่างนั้น ข้อมูลเหล่านั้นอาจหลุดไปสู่สาธารณะได้
จริยธรรม
การใช้ผลลัพธ์ของ ChatGPT โดยไม่กลั่นกรองก่อนอาจเกิดประเด็นทางจริยธรรมได้ เช่น การสร้างเนื้อหาที่เป็นอันตราย การหลอกลวง หรือการละเมิดลิขสิทธิ์
Credit: Unsplash.com
ChatGPT เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพอันน่าทึ่ง แต่ก็ยังคงมีข้อจำกัดอีกมากมายที่ยังต้องได้รับการปรับปรุงและพัฒนา หากคุณอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เทคโนโลยีนี้เติบโตและพลิกโฉมนวัตกรรม พร้อมเรียนรู้ทักษะสู่อาชีพที่โลกในอนาคตต้องการ มาเป็นส่วนหนึ่งของเราได้ที่สาขาวิชาวิทยาการข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ (Data Science and Artificial Intelligence) วิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยี ไทย-ญี่ปุ่น (TNIC) ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ https://tnic.tni.ac.th/th/dsa-program-th/
แหล่งที่มา