Start-up ห้ามพลาด! สรุปย่อกฎหมายระหว่างประเทศที่ธุรกิจต้องรู้

สำหรับ Start-up ไทยที่กำลังเติบโตและมีโอกาสร่วมงานกับนักลงทุนต่างชาติ การเข้าใจ “กฎหมายระหว่างประเทศเพื่อธุรกิจ” เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการสื่อสารและความแตกต่างทางกฎหมาย วันนี้พวกเราจึงขอแชร์เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับกฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ สำหรับ Start-up เพื่อให้ได้เตรียมตัวก่อนเริ่มโกอินเตอร์กัน
โครงสร้างธุรกิจ จุดเริ่มต้นที่ต้องใส่ใจ
ก่อนที่จะไปลงเรื่องภาษีและกฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ สิ่งแรกที่ควรต้องพิจารณาคือรูปแบบและโครงสร้างธุรกิจ เพราะนี่คือรากฐานสำคัญที่ส่งผลต่อแนวทางการดำเนินงานในอนาคต
ทำไมต้องใส่ใจเรื่องรูปแบบธุรกิจ?
● ข้อกำหนดทางกฎหมาย: กฎหมายของแต่ละประเทศอาจมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันสำหรับธุรกิจบางประเภท เช่น บางประเทศกำหนดให้ธุรกิจบางอย่างต้องจดทะเบียนในรูปแบบบริษัทจำกัดเท่านั้น
● ข้อได้เปรียบทางภาษี: รูปแบบธุรกิจที่แตกต่างกันอาจมีข้อได้เปรียบทางภาษีที่แตกต่างกันออกไป เช่น บางประเทศอาจให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ธุรกิจที่อยู่ในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) มากกว่ารูปแบบบริษัท
● ความสะดวกในการบริหารจัดการ: เจ้าของธุรกิจอาจมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการที่แตกต่างกันไป เช่น บางคนอาจรู้สึกสบายใจที่จะเป็นเจ้าของกิจการเพียงคนเดียว (Sole Proprietorship) ในขณะที่บางคนอาจต้องการร่วมมือกับผู้อื่นในรูปแบบบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน
การพิจารณารูปแบบธุรกิจควรคำนึงถึงกฎหมายของประเทศนั้น ๆ และระบบนิเวศ (Ecosystem) โดยรวม นอกจากนี้ หากมีผู้ร่วมประกอบกิจการหลายคน การทำ “สัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น” (Shareholder Agreement) ให้ชัดเจนและเป็นธรรมเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งควรมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
4 ข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศ

1) การออกแบบธุรกรรมสัญญา
ในกรณีที่สินค้าของธุรกิจจำเป็นต้องขนส่งระหว่างประเทศเพื่อให้ถึงมือลูกค้า การออกแบบธุรกรรมสัญญาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งกฎหมายและเอกสารขนส่งข้ามพรมแดน การแบกรับความเสี่ยง และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น นักกฎหมายการค้าระหว่างประเทศจึงได้พัฒนา “ข้อสัญญามาตรฐาน” ให้ผู้ประกอบการเลือกใช้ รวมถึงเงื่อนไขการส่งมอบสินค้าระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย (INCOTERMS) ที่ช่วยกำหนดความรับผิดชอบระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายไว้อย่างชัดเจน เช่น
● CIF (Cost, Insurance and Freight): ข้อตกลงนี้ ผู้ขายจะรับผิดชอบค่าขนส่งและค่าประกันภัยสินค้าไปจนถึงท่าเรือปลายทาง ช่วยลดความเสี่ยงให้กับผู้ซื้อได้มาก แต่ราคาสินค้าก็อาจสูงขึ้นตามไปด้วย
● EXW (Ex Works): ข้อตกลงนี้ ผู้ซื้อต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ตั้งแต่การรับสินค้าออกจากโรงงานของผู้ขาย การขนส่ง การประกันภัย ไปจนถึงพิธีการทางศุลกากร แม้ราคาสินค้าจะต่ำกว่า CIF แต่ผู้ซื้อต้องมีความพร้อมด้านโลจิสติกส์
2) การชำระราคา
เมื่อตกลงซื้อขายสินค้าแล้ว สิ่งสำคัญที่นักธุรกิจไม่ควรมองข้ามคือการทำความเข้าใจรูปแบบการชำระราคา ซึ่งการชำระราคามีรูปแบบที่เป็นที่นิยม ดังนีั
● การชำระเงินล่วงหน้า (Advanced Payment): ผู้ซื้อจะต้องชำระเงินให้แก่ผู้ขายก่อนที่ผู้ขายจะส่งสินค้า วิธีนี้เป็นที่นิยมของผู้ขายเพราะจะได้รับเงินค่าสินค้าครบถ้วนก่อนส่งมอบสินค้า แต่ผู้ซื้อก็อาจมีความเสี่ยงหากผู้ขายไม่ส่งสินค้าตามสัญญา
● หนังสือประกันการชำระเงิน (Letter of Credit: L/C): ธนาคารของผู้ซื้อจะออก L/C เพื่อรับรองการชำระเงินให้กับผู้ขาย โดยผู้ขายจะได้รับเงินเมื่อส่งสินค้าตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน L/C เท่านั้น วิธีนี้เป็นธรรมต่อทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เพราะมีธนาคารเป็นตัวกลางในการทำธุรกรรม ช่วยลดความเสี่ยงของทั้งสองฝ่าย
อีกหนึ่งปัจจัยที่นักธุจกิจควรให้ความสำคัญ คือความผันผวนของค่าเงินเพราะอาจส่งผลกระทบต่อรายได้จากการค้าระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันความเสี่ยงนี้ นักธุรกิจสามารถทำสัญญาอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (Forward Contract) กับธนาคาร โดยธนาคารจะรับความเสี่ยงในเรื่องของการขึ้นลงของค่าเงิน ซึ่งจะช่วยให้นักธุรกิจมั่นใจได้ว่ารายได้จากการค้าระหว่างประเทศจะเป็นไปตามที่คาดหวังไว้

3) ความเสี่ยงทางด้านกฎหมาย
การทำธุรกิจระหว่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องเจอกับกฎหมายมากกว่าหนึ่งระบบที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ตั้งแต่การจัดตั้งบริษัทไปจนถึงการจัดจำหน่ายสินค้า กฎหมายเหล่านี้อาจดูซับซ้อน แต่ถ้าเราเข้าใจหลักการพื้นฐานก็สามารถสบายใจในการทำธุรกิจระหว่างประเทศได้มากขึ้น
กฎหมายที่ต้องเจอหลัก ๆ มีอยู่ 2 แบบ
1. กฎหมายที่ใช้บังคับภายในประเทศ: เช่น กฎหมายการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจ (Licensing) กฎหมายแรงงาน หรือกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค เราต้องศึกษาตัวบทกฎหมายให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ และพิจารณาว่ามีช่องทางใดบ้างที่จะสามารถใช้ประโยชน์ได้ เช่น การเจรจาต่อรองกับภาครัฐเพื่อรับสิทธิประโยชน์บางประการ หรือการขอรับสิทธิลดหย่อนภาษี
2. กฎหมายที่ใช้บังคับนอกประเทศ (Long-Arm Legislation): เช่น IUU Regulation ข้อกำหนดที่สหภาพยุโรปได้กำหนดขึ้นเพื่อต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมายทั่วโลก หรือมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ กฎหมายเหล่านี้อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจ ดังนั้น หากศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายกลุ่มนี้ไว้ก็จะช่วยให้วางแผนในการดำเนินธุรกิจได้อย่างเป็นระบบและถูกกฎหมายระหว่างประเทศนั่นเอง
4) การระงับข้อพิพาท
ข้อพิพาทคือข้อขัดแย้งระหว่างคู่กรณี หากเกิดข้อพิพาทในการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ วิธีที่เป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบันคือการทำข้อตกลงอนุญาโตตุลาการ (Arbitration Clause/Agreement) โดยคู่สัญญาอาจตกลงกันไว้ล่วงหน้าในสัญญาหรือเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นแล้วก็ได้
อย่างไรก็ตาม การระบุว่าจะใช้อนุญาโตตุลาการอย่างเดียวยังไม่พอ การเลือกกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับความสัมพันธ์ทางธุรกิจก็สำคัญเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะกำหนดข้อตกลงเลือกกฎหมาย (Choice-of-Law Clause) ลงไปด้วย เพื่อให้ทราบว่ากฎหมายใดจะถูกนำมาใช้กับความสัมพันธ์ทางธุรกิจนั้น ๆ แต่ถึงแม้ว่าเราจะสามารถเลือกกฎหมายที่จะบังคับใช้ได้ด้วยตัวเองก็ยังมีข้อจำกัดบางอย่าง นั่นก็คือ เราเลือกใช้กฎหมายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางธุรกิจ เช่น ความสัมพันธ์ทางสัญญา หรือความสัมพันธ์ทางละเมิด ได้ แต่จะไม่ครอบคลุมถึงเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือกฎหมายมหาชนของรัฐ

นี่เป็นข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศที่พวกเราคิดว่าจะช่วยให้เห็นภาพกว้างก่อนเริ่มทำธุรกิจกับต่างชาติ หากใครอยากก้าวสู่ความสำเร็จในเวทีธุรกิจโลก สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศและการเป็นผู้ประกอบการ (International Business and Entrepreneurship) วิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยี ไทย-ญี่ปุ่น (TNIC) จะช่วยปลุกปั้นความเป็นผู้ประกอบการระดับโกอินเตอร์ให้กับคุณเอง ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://tnic.tni.ac.th/th/ibn-program-th/
แหล่งข้อมูล
ประมวลรัษฎากร (Revenue Code) https://www.rd.go.th/674.html
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (Civil and Commercial Code) https://searchlaw.ocs.go.th/council-of-state/#/public/doc/Qko1NGNVa1FhMG9hTTNGcU9sTGxydz09
พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 (Public Limited Company Act B.E. 2535 (1992)) https://searchlaw.ocs.go.th/council-of-state/#/public/doc/elBKSDJWYkx4WXMrN3Vxa25OSUZwZz09
INCOTERMS https://incodocs.com/blog/incoterms-2020-explained-the-complete-guide/