สำรวจวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นกับอเมริกัน มีอะไรที่ควรรู้ก่อนเริ่มงานบ้าง
Credit: Unsplash.com
การทำงานในแต่ละประเทศนั้นหากมองที่เนื้องานก็อาจจะไม่แตกต่างกันมาก แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกันอย่างชัดเจนคือวัฒนธรรมการทำงาน นั่นก็เพราะว่าแต่ละประเทศมีขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นของตัวเอง ซึ่งส่งผลต่อรูปแบบความสัมพันธ์ของผู้คนในที่ทำงาน วิธีปฏิบัติ ไปจนถึงข้อห้ามของการทำงาน โดยวัฒนธรรมการทำงานของแต่ละประเทศอาจคล้ายคลึงกันบ้างหรือตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิงเลยก็เป็นได้ ในบทความนี้ พวกเราจะลงรายละเอียดเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นกับอเมริกันให้ผู้อ่านได้เรียนรู้การจัดการวัฒนธรรมที่แตกต่าง (Cross-cultural Management) และเตรียมตัวกันก่อนเริ่มงานจริง
Credit: Unsplash.com
เริ่มต้นที่ฝั่งของญี่ปุ่นก่อน วัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นนั้นสะท้อนค่านิยมของคนญี่ปุ่นได้อย่างชัดเจนเป็นอย่างมาก เนื่องจากสังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมที่นอบน้อมถ่อมตน ให้ความสำคัญกับความอาวุโส และมุ่งมั่นในการทำงานให้ออกมาสมบูรณ์แบบ วัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นส่วนมากจึงมักจะมีส่วนที่คล้ายกันดังนี้
- ให้เกียรติผู้ที่อาวุโสกว่า
สำหรับวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่น ผู้ที่อายุน้อยกว่าหรือตำแหน่งงานอยู่ในระดับฐานมักจะต้องใช้คำพูดและกิริยาท่าทางที่ให้เกียรติกับผู้ที่อายุมากกว่าหรือตำแหน่งสูงกว่าเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการทักทาย การพูดคุย การปฏิบัติงาน หรือการสังสรรค์หลังเลิกงาน ถ้าหากพวกเขาไม่ได้เปิดโอกาสให้กับเรา ไม่ควรทำตัวสนิทสนมกับผู้อาวุโสดังกล่าวเป็นอันขาด ไม่อย่างนั้นจะโดนมองว่า “ไร้มารยาท” และอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ในการทำงานในอนาคตได้เช่นกัน - สื่อสารโดยคำนึงถึงความสุภาพเป็นหลัก
ด้วยความที่คนญี่ปุ่นมักจะให้ความสำคัญกับความรู้สึกของคนอื่น หลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่ง ปัญหา หรือการปะทะ การสื่อสารในเรื่องใด ๆ ก็ตาม โดยเฉพาะเมื่อต้องปฏิเสธหรือวิจารณ์ผลงานของผู้อื่น จึงมักจะออกมาในรูปแบบของประโยคที่ยาว อ้อมค้อม และเริ่มด้วยคำชมหรือคำขอโทษก่อน โดยที่จะใส่เนื้อหาที่ต้องการสื่อนัยยะไว้ทีหลัง ซึ่งฟังแล้วสุภาพจนอีกฝ่ายอาจไม่รู้สึกในแง่ลบเลย บริษัทในญี่ปุ่นหลาย ๆ ที่จึงมีวัฒนธรรมองค์กรเช่นนี้เหมือนกัน - สำรองเวลาไว้เสมอ
คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเวลามาก หากต้องนัดเจอลูกค้าข้างนอก เราควรต้องไปถึงสถานที่นั้นก่อนเวลานัดหมายอย่างน้อยที่สุด 5 นาที เพื่อที่จะได้มีเวลาทำธุระส่วนตัวและพบปะกับลูกค้าได้อย่างตรงเวลา แต่ในทางกลับกัน เวลาในการลุกออกจากโต๊ะทำงานมักจะไม่ใช่เวลาที่บริษัทกำหนดไว้ นั่นก็เพราะว่าวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นที่ชอบทำงานให้เต็มที่มักจะทำให้พนักงานแต่ละคนนั่งทำงานเพิ่มจากเวลาเลิกงานอีกสักพักหนึ่งหรือจนกว่าหัวหน้าจะกลับบ้าน - ถามทุกข้อสงสัยเพื่อให้งานสมบูรณ์แบบ
ด้วยความที่คนญี่ปุ่นมักจะทำงานเป็นทีม และการทำงานเป็นทีมที่ดี ทุกคนในทีมต้องร่วมมือกันเพื่อให้งานที่ทำอยู่ออกมาเพอร์เฟ็กต์และเป็นมืออาชีพ ดังนั้น หากคนในทีมมีข้อสงสัยก็จะถามขึ้นมาให้ครบถ้วนในวงประชุมก่อนที่จะออกไปดำเนินการจริง วัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นจึงมักจะเปิดโอกาสให้เปิดข้อซักถามให้ครบถ้วนเพื่อให้ทุกปัญหาถูกจัดการก่อนที่จะไปเกิดหน้างาน
Credit: Unsplash.com
มาที่ทางฝั่งสหรัฐอเมริกาบ้าง วัฒนธรรมการทำงานของแถบโซนตะวันตกมักจะมุ่งเน้นความเปิดกว้าง ความคิดสร้างสรรค์ และเป้าหมาย ซึ่งมีหลายค่านิยมที่ตรงข้ามกับวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง วัฒนธรรมองค์กรอเมริกันที่พบเห็นได้ทั่วไปมีดังนี้
- พูดคุยกับคนทุกระดับตำแหน่งได้อย่างอิสระ
ด้วยความที่วัฒนธรรมตะวันตกไม่มีระดับของภาษาที่แบ่งเป็นหลาย ๆ ชั้นตามอายุหรือยศถาบรรดาศักดิ์ รวมถึงมองลำดับขั้นเป็นเพียงแค่บทบาทในการทำงาน จึงทำให้การปฏิบัติตัวเพื่อเข้าหาเพื่อนร่วมงานกับเข้าหาหัวหน้างานแทบไม่มีอะไรต่างกันเลย ขอเพียงแค่รักษาความเหมาะสมของคำพูดและการแสดงออกก็เพียงพอแล้ว ซึ่งถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่พบเห็นได้ทั่วไปในสหรัฐอเมริกา - แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา
อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมชาวอเมริกันคือการพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา คนทำงานในอเมริกาจะสื่อสารกันอย่างสั้นและกระชับเพื่อให้ได้ใจความสำคัญที่อีกฝ่ายจำเป็นต้องได้รับ ซึ่งในบางครั้งอาจตรงไปตรงมาจนฟังดูก้าวร้าวหรือเหมือนโดนตำหนิ แต่นั่นก็เป็นผลมาจากระดับภาษาที่แบนราบและการสื่อสารอย่างตรงจุด หากมองในอีกมุมหนึ่ง การสื่อสารเช่นนี้ก็ช่วยสร้างเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ช่วยให้ระบุปัญหาได้อย่างรวดเร็วและช่วยอุดรอยรั่วให้กับงานได้ดี - เน้นความยืดหยุ่นและอิสระ
แทบทุกองค์กรในอเมริกาจะมุ่งเน้นให้คนทำงานมีความคิดสร้างสรรค์และได้สำรวจสิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่องาน ดังนั้น วัฒนธรรมองค์กรที่นั่นจึงมักจะเปิดกว้างให้คนทำงานสามารถเสนอความคิดเห็นและริเริ่มโปรเจกต์ใหม่ ๆ ได้อย่างไม่จำกัดไอเดีย ไม่ต้องรอคำสั่ง รวมถึงให้อำนาจคน ๆ นั้นในการรับผิดชอบโปรเจกต์ให้ออกมาเป็นที่ประจักษ์ ที่สำคัญคือไม่ซีเรียสเรื่องโต๊ะทำงานหรือเวลาเลิกงานด้วย เพียงแค่ต้องเต็มที่กับงานที่ทำ - มองผลลัพธ์เป็นที่ตั้ง
คนอเมริกันมักมีการตั้งเป้าหมายของการทำงานไว้ชัดเจน และจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งก็จะมุ่งเน้นการวัดผลและการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องการความคิดเห็นที่หลากหลายเพื่อเติมเต็มให้แผนการของตัวเองไปสู่เป้าหมายได้ และพยายามทำงานให้ครอบคลุมทุกรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ใครที่กำลังวางแผนที่จะไปทำงานที่อเมริกาต้องวางเป้าหมายของตัวเองให้ชัดเจนเพื่อที่จะกลมกลืนกับวัฒนธรรมองค์กรที่นั่นได้
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการทำงานและวัฒนธรรมองค์กรที่โดดเด่นของ 2 ประเทศนี้ หากเรามีการวางแผนที่จะไปทำงานในประเทศดังกล่าว นอกจากทักษะที่ต้องเพิ่มพูนแล้ว ยังต้องหมั่นสะสมความรู้เรื่องค่านิยมในแต่ละประเทศไว้ด้วยเพื่อสามารถจัดการกับวัฒนธรรมที่แตกต่าง (Cross-cultural Management) หลีกเลี่ยงปัญหาหรือความไม่สบายใจจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้